08 Mar 2019
3 เหตุผลที่ทุกคนต้องเตรียมตัวเกษียณ

 

คำถามที่มักจะเกิดขึ้น เมื่อมีใครสักคนหนึ่งพูดถึงเรื่องการเตรียมตัวเกษียณ หรือ การจัดการเงินสำหรับใช้อย่างเพียงพอในวัยเกษียณ ก็คือ มันสำคัญมากขนาดนั้นเลยเหรอ? ดูจะจริงจังเกินไปกับชีวิตหรือเปล่า? แค่ทำงานหารายได้เพื่อไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำก็เหนื่อยจะแย่แล้ว ใช้แล้วเหลือก็เอาไปเก็บออมฝากธนาคารไว้ แค่นี้ก็น่าจะเพียงพอ ไม่พอก็หารายได้เพิ่ม อีกตั้งนานกว่าจะเกษียณ จะรีบกังวลไปทำไม ยังมีเวลาเตรียมตัวอีกตั้งนาน จบป่ะ?

จบครับ...จบเห่แน่ ๆ  ใครที่คิดแบบนี้ ผมต้องขออนญาตแสดงความเสียใจล่วงหน้าเลยล่ะครับ อันนี้ไม่ได้แช่ง แค่เตือนเอาไว้

 

ทำไมต้องจัดการเงินสำหรับเกษียณ

คุณอาจจะเคยได้ยินประโยคที่ว่า “เงินไม่ใช่ทุกอย่างในชีวิต” แต่ฟังมาไม่หมด แล้วมาพูดต่อ ๆ กันไปเรื่อยจนเข้าใจผิด ผมขอนำประโยคเต็ม ๆ มาให้ชมกัน ซึ่งน็มิสเตอร์เอิร์น วิลซัน คอลัมนิสต์ชื่อดังชาวอเมริกันได้เคยกล่าวไว้ว่า

Always remember money isn't everything,

but make sure that you've made enough of it

before talking such nonsense!”

ซึ่งแปลเป็นไทยได้ใจความว่า “เงินไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต แต่ก่อนจะพูดอะไรไร้สาระแบบนี้ได้ มั่นใจเสียก่อนนะว่ามีเงินเพียงพอ”

การเกษียณก็เช่นเดียวกัน จะบอกว่าเงินไม่ใช่ทุกอย่างสำหรับชีวิตในวัยเกษียณก็ได้ เพราะยังมีเรื่องอะไรอีกตั้งมากให้ต้องวางแผน ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพ อาหารการกิน จิตใจ ลูกหลาน จิปาถะ แต่สังเกตดี ๆ จะพบว่าถ้าขาดเงินแล้วล่ะก็ เรื่องอื่นแทบไม่ต้องวางแผนเลย เพราะถึงอย่างไรก็ทำไม่ได้ ทุกอย่างติดขัดหมดแน่นอน  ดังนั้น การ “จัดการเงินเป็น” เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับใช้จ่ายทั้งชีวิตจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคนจริง ๆ เพราะ  3 เหตุผลหลักดังต่อไปนี้

 

1. คนมีแนวโน้มที่ต้องดูแลตัวเองยามเกษียณมากขึ้น

ครอบครัวตามอุดมคติแบบไทยแท้เลยคือ “ครอบครัวขยาย” ที่อยู่กัน ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ลูก หลาน พร้อมหน้าพร้อมตา แต่ละคนก็ทำหน้าที่ตามบทบาทของตัวเองไป พอปั้นปลายหลังเกษียณ ก็อยู่บ้านเลี้ยงหลาน ให้ลูก ๆ ดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายจนถึงวันที่เราจากโลกนี้ไปอย่างหมดห่วง...โลกสวยที่สุด

แต่ในปัจจุบัน สังคมไทยเปลี่ยนไปเยอะมาก ครอบครัวมีขนาดเล็กลง มีลักษณะแบบครอบครัวเดี่ยวที่แยกออกมาอยู่กันต่างหากพ่อแม่ลูก พอลูกโตก็แยกออกไปมีชีวิตของตัวเอง  หลายคู่ก็อยู่แบบไม่มีลูก ต้องคอยดูแลกันและกันยามแก่เฒ่า และมีอีกไม่น้อยที่ใช้ชีวิตคนเดียวแบบโสด ๆ ทั้งที่เต็มใจและไม่เต็มใจก็ตาม

ประกอบกับสังคมไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า aging society จากตัวเลขของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย และสถาบันวิจัยประชากร มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ในปี 2574 ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ หรือ aged society นั่นคือจำนวนประชากรผู้สูงอายุจะมากกว่าจำนวนประชากรเด็กอย่างมีนัยสำคัญ แปลว่าผู้สูงอายุก็จะต้องพึ่งพิงตัวเองอย่างแน่นอน

 

2. อายุขัยเฉลี่ยของคนมากขึ้น

ณ วันเกษียณ ซึ่งบริษัทบางแห่งก็กำหนดไว้ที่อายุ 55 ปี บางแห่งก็ 60 ปี รายได้หลักของเราที่ได้รับเป็นประจำทุกเดือนก็จะหายไป ในขณะที่รายจ่ายสำหรับดำรงชีวิตยังคงมีอยู่ ซึ่งหากเราไม่ได้เตรียมเงินไว้อย่างเพียงพอแล้วล่ะก็สลดแน่ ๆ เหมือนคำคมที่เคยมีคนว่าเอาไว้ “ที่สุดแห่งความเสียดาย คือตายไปแล้วใช้เงินไม่หมด...ที่สุดแห่งความสลด คือใช้เงินหมด แล้วยังไม่ตาย”

ดังนั้น เงินที่เราสะสมเอาไว้จึงต้องพอใช้ตั้งแต่วันเกษียณจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต ซึ่งค่าเฉลี่ยอายุขัยของคนไทยอยู่ที่ประมาณ 80 ปี และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามความก้าวหน้าทางวิทยาการด้านสาธารณสุข หมายความว่าหลังจากวันเกษียณ เราต้องเตรียมเงินสำหรับใช้จ่ายไว้อย่างน้อยจนกระทั่งอายุ 80 ปี ถ้าเราเกษียณที่อายุ 55 ปี ก็ต้องมีเงินใช้อีกอย่างน้อย 25 ปี หรือถ้าเกษียณที่ 60 ปี ก็อย่างน้อย 20 ปี ถ้าใครสุขภาพแข็งแรง ดูแลตัวเองมาอย่างดี อาจจะมีอายุมากกว่านี้ไปอีก

นี่ขนาดยังไม่ได้พูดถึงจำนวนเงินนะครับ แค่นี้ก็ตื่นเต้นจะแย่อยู่แล้ว

 

3. เงินเฟ้อ - ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

พูดภาษาบ้าน ๆ เลยก็คือของแพงขึ้นทุกปี ยกตัวอย่างชัด ๆ เช่น ก๋วยเตี๋ยว สักช่วงปี 2500 ราคาชามละ 50 สตางค์ 1 บาท มาปี 2535 ก็ประมาณชามละ 20 บาท พิเศษ 25 บาท มาปัจจุบันนี่ เจอชามละ 40 บาทถือว่าราคาถูกมากแล้วนะครับ

คราวนี้ลองนึกดูว่า ณ วันที่เราเกษียณ ราคาก๋วยเตี๋ยวจะพุ่งไปที่เท่าไหร่ แล้วค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ล่ะ ไม่ว่าจะค่ากินค่าอยู่ ค่ารักษาพยาบาล ค่าน้ำค่าไฟ สารพัดสารพัน คือสมมติถ้าปัจจุบันคุณนึกไว้แล้วว่าจะใช้จ่ายในวันเกษียณเดือนละ 15,000 บาท พอ 30 ปีผ่านไปถึงวันที่เราเกษียณจริง ๆ มันต้องมากกว่าที่คิดไว้แน่นอน

 

จาก 3 เหตุผลข้างต้น น่าจะพอบอกได้แล้วนะครับว่าทำไมต้องจัดการเงินสำหรับเกษียณ จะเป็นคนแก่ที่มีความสุขหรือจะทุกข์จนกว่าจะตาย...คุณวางแผนได้ตั้งแต่วันนี้ เวลาเดินไวนะครับ ขอบอก...

 

คลิกเพื่อดาวน์โหลด

 

บทความอื่นๆ
11 Mar 2019
ต้องมีเท่าไหร่ ถึงจะพอใช้ ในวัยเกษียณ
จากโครงการศึกษาวิเคราะห์ระดับสินทรัพย์การออมขั้นต่ำที่ผู้เกษียณอายุพึงมีสำหรับการประกันคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐาน (วัยสูงอายุ) โดยคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า จำนวนเงินขั้นต่ำที่ต้องมี    ณ วันเกษียณอายุ คือผู้ชายอยู่ที่ 2.1 – 2.9 ล้านบาท ส่วนผู้หญิงส่วนใหญ่อายุยืนกว่า รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลตัวเองมากกว่าอยู่ที่ 2.5 – 3.3 ล้านบาท คิดง่าย ๆ เฉลี่ยกลม ๆ สำหรับคนไทยแล้วคือ 3 ล้านบาท
DETAIL