11 Mar 2019
นายจ้าง SUPER HERO

เหตุการณ์ที่เป็นข่าวดังไปทั่วโลกในปี 2561 ก็คือการช่วยเหลือน้อง ๆ เยาวชน “หมูป่า” ที่ “ถ้ำหลวง” จังหวัดเชียงรายออกมาได้อย่างปลอดภัย จากความช่วยเหลือของทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศที่อุทิศแรงกายแรงใจจนทำให้ภารกิจลุล่วงไปด้วยดี ... ทุกคนคือ “ซุปเปอร์ฮีโร่” ในโลกแห่งความเป็นจริง

 

จะว่าไปแล้ว คนที่เตรียมตัวไม่ดี ไม่ได้วางแผนชีวิตสำหรับบั้นปลาย ไม่มีเงินใช้ตอนเกษียณเนี่ย ก็ไม่ต่างอะไรกับการ “ติดถ้ำ” เลยนะครับ อยากกินอะไรก็ไม่ได้กิน อยากทำอะไรก็ไม่ได้ทำ อยากไปไหนก็ไม่ได้ไป เจ็บป่วยแต่ละทีก็ลำบาก เพราะทุกอย่าง “ต้องใช้เงิน” ซึ่งความทรมานแบบนี้ ไม่ใช่แค่ 5 วัน 10 วัน แต่มันยาวนานไปจนถึงวันสุดท้ายของชีวิตเลยทีเดียว

 

ปัญหานี้แก้ได้ แค่มีความตระหนัก มีความรู้ รู้จักวางแผนและลงมือทำ ... แหมอุดมคติหล่อ ๆ แบบนี้ ใครก็พูดกันได้ สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) กว่า 3 ล้านคน จะไปทำได้ไง ... ผู้อ่านหลายท่านคงแย้งมาในใจ

 

แน่นอน มันอาจเป็นเรื่องยากถึงขั้นเป็นไปไม่ได้ แต่ภารกิจที่ถ้ำหลวงก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ทุกอย่างเป็นไปได้แม้มีโอกาสเพียงน้อยนิดก็ตาม

 

ลองคิดดูนะครับ ถ้าหาก “นายจ้าง” ทุกบริษัท เห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว อยากให้พนักงานของตัวเองมีชีวิตหลังเกษียณที่มีความสุข มีเงินใช้อย่างเพียงพอไปตลอดชีวิตเพื่อตอบแทนความมุ่งมั่นในการทำงาน แล้วแต่ละบริษัทก็ลงมือช่วยให้พนักงานของตัวเองเกษียณสุขตามเป้าหมาย แค่นี้เอง ทำไมจะเป็นไปไม่ได้ครับ

 

นายจ้างควรทำอะไรบ้าง?

 

1. ส่งเสริมให้พนักงานออมเงินไว้ใช้ในวัยเกษียณอย่างเพียงพอ ผ่าน PVD ด้วยการโน้มน้าวให้พนักงานสมัครเป็นสมาชิก PVD ตั้งแต่เริ่มเข้าทำงาน พร้อมออมเงินสะสมเต็มสิทธิ 15% ของเงินเดือนตัวเอง ถ้าบริษัทไหนยังไม่ได้แก้ข้อบังคับ PVD ให้สมาชิกสะสมได้ 15% ก็ไปแก้เสียให้เรียบร้อย ส่วนบริษัทไหนยังไม่มี PVD ลองพิจารณาจัดตั้งดูนะครับ สวัสดิการดี พนักงานก็ทำงานได้อย่างเต็มที่แบบไม่ต้องกังวล

 

2. สร้างความตระหนักและส่งเสริมความรู้ด้านการออมใน PVD ให้กับพนักงาน โดยหลัก ๆ คือให้เค้ารู้ยอดเงินเป้าหมายที่ต้องใช้ตอนเกษียณ รู้ว่าต้องออมให้มาก ออมให้นาน เลือกแผนให้เป็นและเหมาะสมกับตนเอง โดยอาจจะสนับสนุนให้กรรมการ PVD หรือ HR ไปเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อมาสอนและเป็นที่ปรึกษาให้เพื่อน ๆ พนักงานต่อได้

 

3. มีแผนการลงทุนที่เหมาะสมและหลากหลายให้พนักงานเลือก เพราะพนักงานแต่ละคนมีเป้าหมายต่างกัน ยอมรับความเสี่ยงได้ต่างกัน แค่อายุไม่เท่ากัน แผนที่เหมาะสมก็ไม่เหมือนกันแล้ว เงินของใคร คนนั้นต้องจัดการเอง และมีสิทธิเลือกเอง หรือถ้ากลัวพนักงานเลือกกันไม่เป็น จะมีแผนสมดุลตามอายุที่ปรับเปลี่ยนการลงทุนให้อัตโนมัติมาช่วยก็ได้ ไว้มีโอกาสกัปตันจะมาคุยเรื่องแผนการลงทุนกันอีกครั้งหนึ่ง

 

สรุปง่าย ๆ ส่งเสริมให้ “ออมเต็มพิกัด จัดแผนเป็น เห็นเงินพอ”  

 

แค่นี้ พวกคุณก็คือ “นายจ้างซุปเปอร์ฮีโร่” ของพนักงานแน่นอน!

บทความอื่นๆ
11 Mar 2019
4 ข้อดี...ทำไมนายจ้างควรมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
เรื่องของการออมเงินเพื่อไว้ใช้ตอนเกษียณ “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” มักถูกพูดถึงบ่อยๆ ว่าเป็นอาวุธที่สำคัญที่จะช่วยให้สมาชิกเกษียณแบบมีเงินใช้ ถ้ารู้จัก “ออมเต็มพิกัด จัดแผนเป็น เห็นเงินพอ” โดย “ฮีโร่” ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้พนักงานไปถึงเป้าหมายได้ ก็คือบรรดา “นายจ้าง” ใจดีทั้งหลายนั่นเอง
DETAIL